ทำความรู้จักกับเกลือหิมาลัย

เกลือหิมาลัย หรือเกลือหิมาลายัน มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยในประเทศปากีสถาน มีสีชมพูเพราะมีไอเอิร์นออกไซด์ (Iron oxide) เป็นส่วนประกอบ เกลือหิมาลัยจัดว่าเป็นเกลือบริสุทธิ์ เชื่อกันว่าเกิดจากการระเหยและตกผลึกของน้ำทะเลยุคโบราณเมื่อหลายล้านปีก่อน ผ่านการสกัดด้วยมือและไม่มีการเติมสารเคมีหรือสารปรุงแต่งใดๆ จึงเป็นธรรมชาติและมีแร่ธาตุมากกว่าเกลือที่ใช้กันอยู่ทั่วไป นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว เกลือหิมาลัยยังนิยมนำมาทำเป็นโคมไฟหรือสร้างเป็นถ้ำเกลือหิมาลัยเพื่อช่วยขจัดเชื้อโรคในอากาศ ทำให้ปอดมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย


ประโยชน์สุขภาพอันโด่งดังของเกลือหิมาลัย

หลายคนเชื่อว่าการบริโภคเกลือหิมาลัยเป็นประจำจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เพราะมีประโยชน์มากมาย ดังนี้

  1. ช่วยรักษาระดับของเหลวในร่างกาย
  2. ช่วยปรับสมดุลค่าความเป็นกรดด่าง (pH balance) ในเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์สมอง
  3. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และชะลอวัย
  4. ช่วยดูดซึมอนุภาคอาหาร (food particles) ในลำไส้
  5. ช่วยให้สมอง กล้ามเนื้อ และระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น
  6. ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสุขภาพไซนัสดีขึ้น
  7. ช่วยควบคุมความดันโลหิต
  8. ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
  9. ป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว
  10. กระตุ้นความต้องการทางเพศ
  11. ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
  12. ช่วยให้นอนหลับสนิท

แม้ประโยชน์บางข้อจะยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ออกมายืนยันว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้เกลือหิมาลัยได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นในปัจจุบัน


เกลือหิมาลัยดีกว่าเกลือบริโภคทั่วไปจริงหรือ

หลายคนเชื่อว่าเกลือหิมาลัยมีประโยชน์สุขภาพมากมาย เพราะมีแร่ธาตุและสารอาหารรองมากถึง 84 ชนิด มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็กมากกว่าเกลือทั่วไป แต่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า คือ ในปริมาณ 1 กรัมเท่ากัน เกลือทั่วไปมีโซเดียม 381 มิลลิกรัม ส่วนเกลือหิมาลัยโซเดียมน้อยกว่า คือ 368 กรัม นอกจากนี้ เกลือบริโภคทั่วไปบางยี่ห้อมีสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เกลือหิมาลัยซึ่งเป็นเกลือธรรมชาติจึงอาจปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่า


ข้อควรระวังในการบริโภคเกลือหิมาลัย

  • ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ

ไอโอดีน คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพื่อให้อวัยวะส่วนต่างๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ เกลือหิมาลัยนั้นมีปริมาณไอโอดีนน้อยกว่าเกลือป่นที่บริโภคกันทั่วไป ผู้ที่หันมาบริโภคเกลือหิมาลัยจึงอาจได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอที่ร่างกายต้องการ และควรเสริมไอโอดีนด้วยการกินอาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย สาหร่าย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนม เพื่อป้องกันการขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency)

  • ได้รับโซเดียมมากเกินไป

แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ทั้งผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าควรควบคุมการบริโภคโซเดียมและผู้ที่ร่างกายแข็งแรงปกติไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินที่ร่างกายต้องการ นั่นคือ ควรบริโภคน้อยกว่า 2,300 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีผลยืนยันแน่ชัดว่าเกลือหิมาลัยดีกว่าเกลือทั่วไป แต่เกลือหิมาลัยก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่อยากบริโภคเกลือทั่วไปเพราะกลัวใส่สารเคมีหรือสารปรุงแต่ง แม้จะมีราคาแพงกว่าเกลือทั่วไปก็ตาม